ประวัติ ของ อาตาริ จากัวร์

เครื่องอาทาริจากัวร์เป็นเครื่องเกมคอนโซลเครื่องสุดท้ายของบริษัทอาทาริ โดยมีจุดมุ่งหมายจะให้เป็นเครื่องเกมที่เหนือกว่าเครื่องซุปเปอร์แฟมิคอมของนินเทนโดและเครื่องเมกะไดรฟ์ของเซก้า โดยทางอาทาริมอบเงินทุนให้บริษัท"แฟลร์ เทคโนโลยี" เป็นผู้พัฒนา ต่อมาภายหลังเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น "แฟลร์ II"

บริษัทแฟลร์II ได้ออกแบบเครื่องเกมไว้ 2 แบบด้วยกัน เครื่องแรกเป็นเครื่องเกม 32 บิท ใช้ชื่อว่า"แพนเทอร์" ส่วนอีกเครื่องเป็นเครื่องเกม 64 บิท ใช้ชื่อว่า "จากัวร์" และผลปรากฏว่าการพัฒนาจากัวร์เร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ อาทาริจึงยกเลิกการพัฒนาแพนเทอร์ และหันมาทุ่มให้กับการพัฒนาจากัวร์

จากัวร์ออกวางตลาดในปีค.ศ. 1993 ในราคา 250 ดอลลาร์สหรัฐ[1] โดยใช้สโลแกนว่า "คำนวณดูสิ"(Do the Math) เพื่อเป็นการโปรโมทว่าเครื่อง 64 บิทของตน เหนือกว่าเครื่องเกมอื่นที่เป็น 16 บิท ในช่วงแรกเครื่องจากัวร์ขายได้ค่อนข้างดี สามารถขายได้มากกว่าเครื่อง 3DO แต่ก็ได้รับการติติงในเรื่องเกมที่คุณภาพต่ำซึ่งบริษัทอาทาริมีชื่อเสียงที่ไม่ค่อยดีในเรื่องที่เครื่องเกมที่อาทาริผลิตส่วนมากมักจะมีแต่เกมคุณภาพต่ำ แต่เครื่องจากัวร์ก็ยังมีเกมที่มีคุณภาพอย่างเกม "เทมเพส 2000", "อเลี่ยน เวอซัส พรีเดเตอร์" และ "ดูม"

เครื่องจากัวร์ประสบปัญหาในเรื่องมีเกมให้เล่นน้อย[2] เนื่องจากเครื่องเกมที่ออกมามีปัญหาบั๊ก และขาดแคลนเครื่องมือในการพัฒนาเกม การพัฒนาเกมในจากัวร์จึงค่อนข้างยาก รวมทั้งนักเล่นเกมต่างก็บ่นว่าคอนโทรลเลอร์ของจากัวร์นั้นซับซ้อนเกินไป เนื่องจากมีปุ่มถึง 15 ปุ่ม[3]

ในปี 1995 เครื่องเพลย์สเตชันของโซนี่และแซทเทิร์นของเซก้าก็ออกวางตลาด ทำให้สถาณภาพของจากัวร์ง่อนแง่นเข้าไปอีก ทางอาทาริพยายามเอาตัวรอดโดยให้สำภาษณ์ว่าเครื่องจากัวร์นั้นมีประสิทธิภาพสูงกว่าเครื่องแซทเทิร์นและต่ำกว่าเครื่องเพลย์สเตชันเพียงนิดเดียว ซ้ำยังทำนายว่าเครื่องเพลย์สเตชันจะวางจำหน่ายในราคา 500 ดอลลาร์สหรัฐ และถ้าเกิดเพลย์สเตชันจะขายในราคาที่ต่ำกว่านี้ ทางอาทริจะฟ้องร้องฐานกีดกันทางการค้า ซึ่งปรากฏว่าเครื่องเพลย์สเตชันวางขายในราคา 299 ดอลลาร์สหรัฐ แต่ทางอาทาริก็ไม่เคยดำเนินการฟ้องศาลดังที่ให้สัมถาษณ์ไว้[4] ทางอาทาริกล่าวอ้างว่าเครื่องจากัวร์ของตนเหนือกว่าเครื่องเพลย์สเตชันเพราะเครื่องจากัวร์นั้นเป็นเครื่องเกม 64 บิท แต่คำกล่าวอ้างนั้นเป็นคำกล่าวอ้างเกินความจริง เพราะเครื่องจากัวร์นั้นไม่ได้ใช้ CPUแบบ 64 บิทอย่างแท้จริง แต่ใช้ CPU 32 บิท 2 ตัวทำงานร่วมกัน

การเข้าสู่ตลาดของเครื่องเพลย์สเตชันส่งผลเสียอย่างมหันต์ต่อเครื่องจากัวร์ บริษัทอาทาริมีรายได้ลดลงถึงครึ่งหนึ่งภายใน 1 ปี[5] ในที่สุดบริษัทอาทาริก็ยุติการผลิตจากัวร์หลังจากที่ต้องรวมกิจการกับบริษัท JT Storage